Last updated: 27 พ.ค. 2564 | 67846 จำนวนผู้เข้าชม |
หลังจากเลือกประเภทบัญชีซื้อขายหุ้นที่ต้องการจากบทความก่อนหน้ากันได้แล้ว ["บัญชีซื้อขายหุ้น" มีกี่ประเภท] คำถามยอดฮิตในหัวข้อถัดมาก็คือ ...แล้วเราควรเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นกับโบรกเกอร์เจ้าไหนดี?
เจ้าไหนดีที่สุดคงเป็นคำถามที่...ตอบยาก! แต่เจ้าไหนเหมาะกับคุณมากที่สุด จะเป็นคำถามที่เราจะมาร่วมหาคำตอบกันในบทความนี้ค่ะ
เลือกโบรกเกอร์ที่ดี ให้ถูกใจ ต้องดูกันที่อะไรบ้าง
1.เป็นโบรกเกอร์ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(กลต.)
โบรกเกอร์นั้นๆ เป็นบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์หรือไม่
>>> ตรวจสอบได้ที่นี่ <<<
เจ้าหน้าที่มาร์เก็ตติ้ง นักวิเคราะห์การลงทุน ผู้แนะนำการลงทุน ในโบรกเกอร์นั้นๆ ได้รับอนุญาตจาก กลต. หรือไม่
>>> ตรวจสอบได้ที่นี่ <<<
2.ความน่าเชื่อถือของโบรกเกอร์
ดูประวัติของโบรกเกอร์ ว่ามีการดำเนินงานดีหรือไม่ดีอย่างไร เคยมีประวัติที่ทำให้ลูกค้าเสียหายบ้างหรือไม่ และมีการรับผิดชอบอย่างไร ซึ่งสามารถตรวจสอบข่าวต่างๆ ที่ กลต. รวมทั้งความคิดเห็นจากลูกค้าที่ใช้งานจริงซึ่งพบในสื่ออินเทอร์เน็ตและโซเชียลต่างๆ [บางเจ้าระบบการซื้อขายมักล่มในช่วงเวลาสำคัญ]
3.เปรียบเทียบค่าธรรมเนียมการซื้อขายของแต่ละโบรกเกอร์
ทุกๆคำสั่งซื้อ/ขายจะมีค่าคอมฯเกิดขึ้น ซึ่งแต่ละโบรกเกอร์ก็จะมีการเรียกเก็บเป็น % ที่แตกต่างกัน ดังนั้นคุณควรหาข้อมูลและเปรียบเทียบตัวเลือกต่างๆ ของแต่ละโบรกเกอร์ ตามประเภทบัญชีซื้อขายที่คุณต้องการ
* อัตราค่าธรรมเนียมการซื้อขายในแต่ละประเภทบัญชีจะแตกต่างกัน เช่น บัญชี cash balance จะมีค่าธรรมเนียมต่ำกว่า cash account
* ส่งคำสั่งซื้อขายเองผ่านอินเทอร์เน็ตจะมีค่าธรรมเนียมถูกกว่าการส่งคำสั่งผ่านผู้ดูแลบัญชี(มาร์เก็ตติ้ง)
4.ค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ มีผลกับเราหรือไม่
หลายๆโบรกเกอร์มีค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ เช่น 50 บาทต่อวัน ในขณะที่บางโบรกฯไม่มี เช่น AEC, BLS, CGS-CIMB, FINANSIA, SCBS, THANACHART, TISCO, YUANTA
>>> คลิกดูรายชื่อบริษัทหลักทรัพย์ในปัจจุบันทั้งหมด <<<
(คลิกที่เครื่องหมาย + ที่หน้า รายชื่อบริษัทหลักทรัพย์ เพื่อดูค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ)
สมมุติคุณเลือกเปิดบัญชี cash balance โดยเทรดเองผ่านอินเทอร์เน็ต และมีค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 0.15% นั่นหมายความว่าทุกๆ การซื้อขาย 10,000 บาท จะมีค่าธรรมเนียม 15 บาทเกิดขึ้น ถ้าคุณเปิดบัญชีแบบไม่มีค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ แน่นอนว่าคุณจะเสียค่าธรรมเนียมตามจริงที่ 15 บาท แต่หากเปิดบัญชีกับโบรกเกอร์ที่มีขั้นต่ำ คุณจะเสียค่าธรรมเนียมในวันนั้นทันที 50 บาท
เทรดเท่าไรจึงจะคุ้มกับค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ?
ถ้าค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 0.15% จะเทียบเท่ากับยอดซื้อ/ขายขั้นต่ำ 33,333 บาท (50 ÷ 0.15%) ดังนั้นหากคุณคิดว่า คุณจะมีการซื้อขายรวมมากกว่าจำนวนเงินข้างต้น ก็ขอให้ข้ามข้อนี้ไปได้เลย แต่หากเป็นมือใหม่ที่ทุนยังน้อย อยากลองผิดลองถูก ลองซื้อลองขายเพื่อหาแนวทางตัวเอง สมมุติคุณซื้อขายวันละไม่ถึง 33,333 บาทในทุกวันทำการ คุณจะเสียค่าธรรมเนียมทั้งเดือนรวม 22X50 = 1,100 บาท ซึ่งก็ไม่น้อยเลยทีเดียว
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราทุกคนต้องเทรดทุกวัน และก็ไม่ได้หมายความว่าโบรกเกอร์ที่มีขั้นต่ำจะไม่ดี ซึ่งเราควรต้องชั่งน้ำหนักกับข้อถัดไปว่าใครมีให้มากกว่ากัน
5.บริการต่างๆมีมากน้อยเพียงใด และเหมาะกับเราหรือไม่ เช่น บทวิเคราะห์หุ้น เครื่องมือหรือโปรแกรมในการเทรด บางโปรแกรมอาจต้องเสียเงินในขณะที่บางโบรกเกอร์ก็มีให้ใช้งานกันแบบฟรีๆ ควรมีโปรแกรมการติดตามการลงทุน รวมทั้งต้องมีช่องทางการอัพเดตข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็วและครบถ้วน
นอกจากนั้นหากใครเป็นนักเกร็งกำไรหรือเทรดเดอร์ที่คาดว่าจะมีการซื้อขายบ่อยๆ อย่าลืมดูถึงสิทธิประโยชน์อื่นๆ เช่น สะสมแต้มจากค่าคอมมิชชั่นเพื่อแลกของรางวัลต่างๆ ซึ่งในแต่ละโบรกเกอร์ก็จะมีการให้แต้มสะสมและของรางวัลแตกต่างกัน
เมื่อเลือกโบรกเกอร์ได้แล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการสมัคร ซึ่งสามารถเปิดพอร์ตออนไลน์ได้ง่ายๆ เพียงแค่เข้าไปกรอกใบสมัครในเว็บไซต์ พิมพ์เอกสารออกมาเซ็นชื่อ และส่งเอกสารไปตามที่อยู่ที่โบรกเกอร์แจ้งไว้(บางโบรกเกอร์อาจจะให้แมสเซนเจอร์เข้ามารับเอกสารที่เราเอง) หลังจากนั้นก็แค่รออนุมัติ เมื่อโบรกเกอร์แจ้ง username และ password แล้ว ก็มาเริ่มซื้อขายกันได้เลย