Last updated: 6 ก.ย. 2564 | 47983 จำนวนผู้เข้าชม |
ยุคที่เทรนด์ดิจิทัลกำลังมาแรงแบบนี้ ธุรกิจมากมายก็ได้นำเอาเทคโนโลยีรูปแบบใหม่มากมายเข้ามาปรับใช้สำหรับการดำเนินงานกันอย่างดุเดือด ส่งผลต่อทักษะและบทบาทของผู้สมัครและพนักงานพอสมควร ไหนจะการก้าวเข้ามามีบทบาทของปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (artificial intelligence) ที่หลายคนกลัวกันว่าจะเข้ามาแย่งชิงงานจากมนุษย์ในอนาคต
อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงในหลายๆครั้งไม่ได้มีแต่เรื่องน่ากลัวหรือเรื่องร้าย แต่ยังนำมาสู่
โอกาส และ การเกิดขึ้นของสิ่งใหม่ๆ เช่นเดียวกับเส้นทางของอาชีพพนักงานประจำ ต้องมาดูกันหน่อยว่าอาชีพที่น่าสนใจ และ เป็นที่ต้องการภายใต้ของเทรนด์ธุรกิจโลกยุคดิจิทัล มีอะไร และมีองค์ประกอบอะไรบ้างที่จะสามารถพาคุณไปสู่เส้นทางอาชีพเหล่านั้นได้
1. Digital marketing: นักการตลาดออนไลน์
อาชีพยอดนิยมที่มีจำนวนผู้สมัครเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นสายงานที่ตอบโจทย์คนยุคใหม่ จากการที่ได้คลุกคลีกับสื่อออนไลน์ อีกทั้งยังต้องใช้ทักษะด้านการวางแผน และ ทำงานร่วมกับหลายฝ่าย เพื่อให้ได้ผลลัพธ์บรรลุตามที่เป้าหมายหรือองค์กรกำหนด
ด้วยความที่สายงานนักการตลาดออนไลน์มีความเกี่ยวโยงกับทักษะหลายๆด้าน จึงมีตำแหน่งงานรองรับที่ค่อนข้างเปิดกว้างและหลากหลาย เช่น นักวางแผนกลยุทธ์ นักวางแผนสื่อออนไลน์ ประชาสัมพันธ์ฝ่ายวิเคราะห์และวัดผลสื่อโฆษณาออนไลน์ นักสื่อสารแบรนด์และภาพลักษณ์องค์กร ฯลฯ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับความสามารถ ทักษะ และ ความสนใจของแต่ละคนว่าจะเลือกอยู่ในส่วนไหนของการเป็นนักการตลาดออนไลน์
จุดแข็งของอาชีพสายนี้ คือการได้เรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา ทั้งจากเนื้องาน การได้ทำงานร่วมกับผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา และ การหมั่นติดตามพฤติกรรมผู้บริโภค หรือ เทรนด์ของการสื่อสารรูปแบบใหม่ๆ อีกทั้งยังเป็นงานที่อาศัยทั้งการคิดวิเคราะห์ และ ความคิดสร้างสรรค์ ไปพร้อมๆกันอีกด้วย
2. Data Scientist: นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล
นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล และ นักวิเคราะห์ข้อมูล กลายเป็นอาชีพสุดฮ็อตและเนื้อหอมอย่างมากทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งการที่แรงงานในสายอาชีพนี้ยังมีไม่พอต่อความต้องการของตลาด จึงส่งผลให้ค่าตอบแทน หรือ แม้แต่โอกาสทางการเติบใตในเส้นทางสายงานนี้ อยู่ในระดับที่สูงตามไปด้วย
สาเหตุที่ทำให้ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล เป็นอาชีพที่มาแรงและเป็นต้องการในธุรกิจยุคดิจิตัลก็เนื่องมาจากการที่โลกของธุรกิจในตอนนี้ได้ให้ความสำคัญกับการนำข้อมูลที่มี (Big Data)มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งในการตีความหมาย การวิเคราะห์ หรือ นำมาสร้างเป็นองค์ความรู้ใหม่ เพื่อให้องค์กรนำไปใช้ต่อยอดธุรกิจสู่เป้าหมายอย่างถูกทิศทาง เรียกว่าเป็นส่วนที่มีบทบาทสำคัญมากๆ
พื้นฐานการศึกษาที่มาจากด้าน ภูมิหลังด้านการศึกษาคณิตศาสตร์ สถิติ วิศวกรรมศาสตร์ สารสนเทศข้อมูล วิทยาการคอมพิวเตอร์ วิทยาศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ จึงเป็นตัวตั้งต้นที่สำคัญ เพราะทักษะ 4 องค์ประกอบหลักที่ควรมีเพื่ออยู่บนเส้นทางสาย นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล นั้นประกอบด้วย Hacking Skill (สกิลเกี่ยวกับ Computer Programming, Data Base, Big data Technologies) Statistic & Math (ทักษะทางคณิตศาสตร์และสถิติศาสตร์) Substantive Expertise (หรือ Domain Knowledge) Presentation (ทักษะการนำเสนอข้อมูล) และ Visualization
3. Web developer: นักพัฒนาเว็บไซต์
จากกระแสของสื่อโซเชียลใหม่ๆ ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้หลายคนเข้าใจว่าอาจจะหมดยุคของเว็บไซต์ ซึ่งจะส่งต่ออาชีพ นักพัฒนาเว็บไซต์ แต่ต้องบอกเลยว่านั่นคือความคิดที่ผิด เพราะแท้จริงแล้วอาชีพนี้ยังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานอยู่มาก
เพราะถึงแม้จะมีการเกิดขึ้นของสื่อออนไลน์ใหม่ๆมากมาย แต่เว็บไซต์ยังเป็นทรัพย์สินสำคัญของทุกบริษัทหรือสำหรับทุกวงการธุรกิจอยู่เสมอ ที่สำคัญนอกเหนือจากอาชีพนักพัฒนาเว็บไซต์แล้ว ยังมีอาชีพอื่นในสายงานเว็บไซต์ ที่น่าสนใจอีก เช่น Web Master, Web Designer, Web Marketing ,Web Content และ E-Commerce Developer เป็นต้น
จุดเด่นของสายอาชีพนี้คือความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในเรื่องของการจัดทำและพัฒนาเว็บไซต์เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคหรือกลุ่มเป้าหมายของบริษัท นั่นแปลว่าคุณจะได้เรียนรู้การปรับเปลี่ยนของมนุษย์ เทคโนโลยี รวมทั้งแนวทางใหม่อยู่เสมอ
4. Content & Copy Writer: นักสร้างคอนเทนต์
เมื่อมีช่องทางการสื่อสารเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับการเสพติดสื่อออนไลน์ของผู้บริโภคมากขึ้น ความต้องการผลิตเนื้อหาสำหรับการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจจึงเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน และนั่นคือสาเหตุที่ทำให้อาชีพนักสร้างคอนเทนต์ยังเป็นที่ต้องของการของบริษัทหลายแห่งอย่างต่อเนื่อง
หน้าที่ บทบาท และ ความรับผิดชอบสำหรับอาชีพนักสร้างคอนเทนต์ อาจไม่ได้ถูกนิยามชัดเจน เพราะแต่ละบริษัทอาจมีความต้องทักษะที่มากหรือน้อย เจาะจงหรือจับฉ่าย แตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตามส่วนหลักคือคุณจะได้สร้างเนื้อหา เพื่อการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ สร้างแบรนด์ ฯลฯ โดยเป็นไปได้ทั้งรูปแบบงานเขียนทั้งสั้นไปจนถึงยาว งานออกแบบกราฟฟิก หรือ แม้กระทั่งวิดีโอ นั่นเอง
จุดเด่นของงานประเภทนี้คือ อิสระทางความคิดและการทำงาน เพราะคุณจะได้สร้างสรรค์เนื้อหารูปแบบใหม่ๆ ที่กลั่นกรองมาจากความเข้าใจเชิงการตลาดและจิตวิทยาผู้บริโภค รวมทั้งการได้เผชิญความท้าทายอยู่ตลอดเวลา เพราะ การจะได้นักสร้างคอนเทนต์ที่ดีได้ ต้องพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ เช่น เทรนด์หรือกระแสผู้บริโภค เครื่องมือออนไลน์ต่างๆ และ การเข้าใจแก่นของการตลาดอีกด้วย
5. Digital Designer: นักออกแบบสื่อออนไลน์
นักออกแบบดิจิทัล ผู้รับออกแบบทุกสิ่งทุกอย่างที่สามารถนำไปวางและใช้สื่อสารบนโลกดิจิทัลได้อย่างเห็นผล ปัง ๆ โดน ๆ อยู่ในกระแส ทั้งสื่อโฆษณา สื่อสร้างภาพลักษณ์ และสื่อประชาสัมพันธ์ทุกประเภท ขยันปล่อย ขยันอัปเดต รับรองเข้าตาลูกค้าและโดนใจชาวโซเชียลได้ตลอดเวลา
“นักออกแบบดิจิทัล” อาชีพนี้ฟังเเล้วอาจจะเข้าใจยาก เเต่เรากำลังพูดถึงคนที่สามารถออกเเบบทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้สามารถนำไปวางและใช้สื่อสารบนโลกดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิผล เช่น แถบโฆษณาบนเว็บไซต์ (Website Banner) สื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แบรนด์สินค้า (Digital Ads) รวมถึงการออกเเบบสื่อออนไลน์ทุกประเภทเพื่อทำให้ลูกค้าหรือผู้เข้าชมเว็บไซต์เกิดความประทับใจ
กราฟิกดีไซน์ไม่ว่าจะเป็นงานออกแบบเว็บ (Web design) , แอพพลิเคชั่น หรือตัดต่อวิดีโอ (digital media) ซึ่งถือเป็นอาชีพที่ต้องใช้ความสร้างสรรค์ของทักษะและไอเดียความคิดอย่างมากในงาน โดยสายอาชีพงานด้านนี้นั้น สามารถพัฒนาต่อยอดไปได้อีกไกล เนื่องจากผู้คนมักจะมองภาพก่อนอย่างอื่นเป็นอันดับแรก ซึ่งถ้าหากรูปที่สื่อสารได้ดีแล้วจะส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อที่ตามมาเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง
ดูตำแหน่งงานด้านออกแบบกราฟฟิกได้ที่ www.thaijob.com/design
6. วิศวกรหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ
เส้นทางอาชีพวิศวกรนับเป็นสิ่งที่หลายคนใฝ่ฝันอยู่แล้ว และ ช่วงหลังๆก็ได้เริ่มมีสายงานที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นการนำทักษะด้านวิศวะผสมเข้ากับศาสตร์ด้านอื่นๆ และเข้าไปมีบทบาทกับทุกภาคส่วนของสังคม แน่นอนว่าทั้งเรื่องผลตอบแทน และ ความก้าวหน้า รวมทั้งความมั่นคงยังเป็นจุดหลักอยู่เหมือนเคย
แล้วทำไมต้องวิศวกรหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ … คำตอบก็เพราะ นโยบายของภาครัฐต่อจากนี้จะให้ความสำคัญกับการนำพาประเทศไทยไปสู่ยุค 4.0 ซึ่งมีเทคโนโลยี และ นวัตกรรมสมัยใหม่มากมายเป็นตัวขับเคลื่อนนั่นเอง ที่สำคัญแรงงานด้านนี้ยังเป็นที่ต้องของทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย
โลกกำลังก้าวสู่ยุคของ AI หรือ ระบบปัญญาประดิษฐ์ ดังนั้นการออกแบบ - ผลิตหุ่นยนต์, วิศวกรควบคุมบริหารโรงงานอัจฉริยะ และวิศวกรทีมดูแลงานบำรุงรักษาระบบเอไอ จึงเป็นอาชีพที่ถูกจับตา และ คาดหมายว่าจะต้องเติบโต สวนทางกับการจ้างงานในสายอาชีพอื่นๆที่อาจทดแทนได้ด้วยหุ่นยนต์ที่คนกลุ่มนี้เป็นผู้สร้างและดูแลนั่นเอง
7. นักวิเคราะห์การลงทุน
อีก 1 อาชีพที่น่าสนใจอย่างมาก คือ นักวิเคราะห์การลงทุน เพราะถึงแม้ว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา จะเริ่มนำระบบปัญญาประดิษฐ์เข้ามาใช้ในสายงานนี้ แต่เชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วนักวิเคราะห์การลงทุนซึ่งมีความเข้าใจเชิงอารมณ์ในแบบมนุษย์ด้วยนั้นยังคงมีบทบาทสำคัญอยู่
ที่สำคัญประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มตัว แต่กลับสวนทางกับผู้ที่มีความพร้อมทางการเงินหลังเกษียณ เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าชีวิตโดยส่วนใหญ่ของคนไทยยังขาดการวางแผนและองค์ความรู้ในการนำเงินมาลงทุนเพื่อสร้างความมั่งคั่งและมั่นคงให้กับชีวิตในระยะยาว รวมทั้งการเติบโตของผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อการลงทุนรูปแบบใหม่มากมาย จึงมีความจำเป็นต่อการเพิ่มจำนวนหรือบทบาทหน้าที่ และ คุณภาพ ของผู้ที่ประกอบอาชีพนักวิเคราะห์การลงทุน อีกด้วย
นอกจากนั้นพฤติกรรมการบริโภคสื่อและข่าวสารที่เปลี่ยน และคาดว่าจะเปลี่ยนต่อไปอีกเรื่อยๆส่งผลให้คนต้องการข้อมูล ความรู้ และ ข้อแนะนำอย่างรวดเร็วทันไป ดังนั้นวิเคราะห์การลงทุนยุคใหม่อาจมีหน้าที่เพิ่มมากขึ้น และบทบาทบางส่วนอาจปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยนั่นเอง
นอกจากอาชีพทั้ง 7 สายงานที่พูด จริงๆแล้วยังมีงานมากมายที่ตอบโจทย์ธุรกิจยุคดิจิทัลอีกหลายประเภทเช่นกัน อย่างไรก็ตามอย่าลืมว่าเราเองก็ต้องปรับตัวให้ทัน พร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ๆและพร้อมเรียนรู้ความท้าทายรวมทั้งความเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับเส้นทางอาชีพที่เราเลือกเดินด้วยนะครับ