เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อุทัยธานี ดินแดนนี้มีความหลัง

Last updated: 4 มี.ค. 2562  |  4164 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อุทัยธานี ดินแดนนี้มีความหลัง

“เสียงปืนที่ดังลั่น    ตัวแม่นั้นต้องสิ้นใจ

ลูกน้อยที่กอดไว้    กระดอนไปเพราะแรงปืน

ฝืนใจเข้ากอดแม่    หวังแก้ให้แม่ฟื้น

แม่จ้าเพราะเสียงปืน    จึงไม่คืนชีวิตมา

โทษใดจึงประหาร    ศาลไหนพิพากษา

ถ้าลูกท่านเป็นสัตว์ป่า    ใครเข่นฆ่าท่านยอมไหม

ชีวิตใคร ใครก็รัก    ท่านประจักษ์หรือไม่

โปรดเถิดจงเห็นใจ    สัตว์ป่าไซร้เหมือนกัน”

“สิ้นเสียงปืน” เป็นบทกลอนของ สืบ นาคะเสถียร ที่เขียนไว้เมื่อปี 2518



ห้วยขาแข้ง คือ หนึ่งในผืนป่ามรดกโลกที่คนไทยภาคภูมิใจ มีความอุดมสมบูรณ์และเต็มไปด้วยความหลากหลายทางธรรมชาติ โดยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีพื้นที่ครอบคลุม 6 อำเภอ 3 จังหวัดด้วยกัน คือ อำเภอบ้านไร่ อำเภอลานสัก อำเภอห้วยคต ในจังหวัดอุทัยธานี อำเภอสังขละบุรี อำเภอทองผาภูมิ ในจังหวัดกาญจนบุรี และอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ซึ่งมีการรวมพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้วย จึงทำให้ผืนป่าแห่งนี้มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ป่าซึ่งครั้งหนึ่งชายนามว่า “สืบ นาคะเสถียร” ยอมสละชีวิตเพื่อปกป้องไว้

ในปลายเดือนกุมภาเช่นนี้ ก่อนฤดูกาลจะเปลี่ยนเป็นฤดูร้อนอย่างจริงจัง ต้นไม้ปรับตัวผลัดใบเพื่อลดการคายน้ำ เป็นภาพที่แปลกตา เป็นความสวยที่แตกต่างไปอีกแบบ ภายในอุทยานมีลมพัดเย็นๆ มาเรื่อยๆ ข้างในนี้ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ด้วยนะ เหมือนเราจะถูกตัดขาดจากโลกโซเชียลชั่วขณะ เรากับเพื่อนไม่ได้พักค้างคืนที่นี่ เนื่องจากไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวทั่วไป แต่จัดเป็นเขตอนุรักษ์ ที่มีความเปราะบาง การเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้ามามากมายอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในพื้นที่ได้ ดังนั้นการพักค้างคืนหรือเดินทางไปศึกษาธรรมชาติในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จึงต้องติดต่อขออนุญาตเสียก่อน เราจึงทำได้เพียงเดินถ่ายรูปเก็บบรรยากาศรอบๆ ที่อนุญาตให้เข้าไปได้เท่านั้น

ภายในมีห้องประชุมที่จัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับผืนป่าแก่ประชาชน เราสามารถชวนเพื่อน ชวนแฟน อุ้มลูก จูงหลานไปเที่ยวชมได้ค่ะ

เหล่ากวางน้อยจะเดินเตาะแตะ เล็มหญ้าอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล ไม่รบกวนซึ่งกันและกัน

เมื่อมาถึงที่แห่งนี้ สิ่งที่ต้องทำคือ แวะเคารพอนุสรณ์สถาน “สืบ นาคะเสถียร”

“คุณสืบ สอบบรรจุรับเป็นข้าราชการกรมป่าไม้เมื่อปี 2518 เขาทำงานด้วยความตั้งใจ ทุ่มเท และซื่อสัตย์ต่ออาชีพของตน ในปี 2522 เขาได้รับทุนจาก British Council ไปศึกษาต่อในสาขาวิชาอนุรักษ์วิทยา ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อจบการศึกษาได้กลับมาปฏิบัติหน้าที่รับตำแหน่งเป็นหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ จังหวัดชลบุรี แล้วในปี 2526 เขาขอย้ายกลับมาทำงานประจำฝ่ายวิชาการ กองอนุรักษ์สัตว์ป่า เพราะอยากทำงานวิชาการ และงานศึกษาวิจัย ซึ่งเป็นงานที่เขารักและมีความสุขที่ได้ทำ

ในปี 2533 คุณสืบรับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขาเริ่มงานท่ามกลางปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรของผืนป่าแห่งนี้ เขาพยายามทำทุกอย่างเพื่อบรรเทาปัญหานี้ ทั้งงานการป้องกันปราบปราม งานศึกษาวิจัย และงานประชาสัมพันธ์อย่างเต็มความสามารถ ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น เขาทุ่มเทในการเก็บข้อมูลทางวิชาการด้านต่างๆ ของผืนป่าห้วยขาแข็งและทุ่งใหญ่นเรศวร เพื่อเสนอต่อองค์การยูเนสโก (UNESGO) ด้วยความเชื่อมั่นว่าสิ่งนี้ จะเป็นหลักค้ำประกันให้ผืนป่าแห่งนี้

8 เดือนกับการเป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งที่ “สืบ นาคะเสถียร” ทำงานอย่างหนักเพื่อการอนุรักษ์และคุ้มครองผืนป่า แต่ผลที่ได้รับกลับไม่เป็นอย่างที่หวัง คนส่วนใหญ่ในสังคมยังไม่เห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิด สัตว์ป่ายังคงถูกล่า มีการตัดไม้อย่างหาคนกระทำผิดไม่ได้ รวมถึงเจ้าหน้าที่อีกหลายคนที่ต้องแลกชีวิตกับการปกป้องสิ่งเหล่านี้

1 กันยายน 2533 เขาตัดสินใจใช้ชีวิตของตนเองเป็นเดิมพัน เพื่อเรียกร้องให้สังคมหันมาตระหนักถึงปัญหาของการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และในปีถัดมาในวันที่ 9 ธันวาคม 2534 ผลของความมุ่งมั่น ทุ่มเท และความหวังของ “สืบ” ที่มีต่อผืนป่าได้รับการตอบรับจากสังคม โดยองค์การยูเนสโก ได้ให้การยอมรับและประกาศรับรองให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นพื้นที่มรดกทางธรรมชาติของโลก”

“บ้านสืบ นาคะเสถียร

การเข้าไปเยือนเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งครั้งนี้แตกต่างจากการไปเที่ยวป่าของเราครั้งไหนๆ คือ การไปสดุดี และรำลึกถึงความดี ความทุ่มเท ของชายที่ชื่อว่า “สืบ นาคะเสถียร” มันทำให้เรามีความรักและหวงแหนผืนป่ามากขึ้น

ปล. การเดินทางไป ณ ที่แห่งนี้ไม่ยาก ถนนดี แต่ระวังอย่าใช้ความเร็วในการขับขี่มากนะคะ เพราะอาจมีสัตว์ป่าโผล่ออกมาจากข้างทางได้

 

Z-story

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้